วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

เวสสันดรชาดก

              
 

              พระเวสสันดรเป็นโอรสของพระนางผุสดีกับพระเจ้าสัญชัยแห่งแคว้นสีพี เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 ปี ได้อภิเษกสมรสกับ
พระนางมัทรีเจ้าหญิงแห่งแคว้นมัททะ มีพระโอรสและพระธิดา คือ ชาลีกุมาร และกัณหากุมารี

              พระเวสสันดรใจบุญมาก สร้างโรงทานไว้บริจาคคนยากจน 6 แห่ง ต่อมาได้บริจาคช้างปัจจัยนาค ซึ่งเป็นช้างมงคลให้แก่แคว้นกาลิงคะที่ส่งทูตมาขอ ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ พากันกราบทูลพระเจ้าสัญชัยให้เนรเทศออกจากเมือง พระเจ้าสัญชัยจำต้องยอมทำตามมติของมหาชน พระเวสสันดรเองก็ยอมรับมตินั้น แต่ก่อนจากไปนั้นได้ทูลขอบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่เรียกว่า สัตตสดกมหาทานคือให้ของอย่างละ 700 เป็นทาน มีช้าง 700 เชือก ม้า 700 ตัว วัวนม 700 ตัว รถ 700 คัน นารี 700 นาง ทาส 700 คน ทาสี 700 คน ผ้าอาภรณ์อย่างละ 700 จากนั้นได้เสด็จออกจากเมืองพร้อมกับพระนางมัทรี เจ้าหญิงกัณหา และเจ้าชายชาลี ไปจนถึงเขาวงกต ในป่าหิมพานต์แล้วได้บวช เป็นฤาษีแยกกันอยู่ โดยพระโอรสพระธิดาอยู่กับพระนางมัทรี

               ต่อมา พราหมณ์เฒ่าชื่อ ชูชก มาทูลขอชาลีกุมาร กับกัณหากุมารีพระเวสสันดรก็ได้ยกให้โดยตีราคาค่าตัวสองกุมารีว่ามีราคาค่าไถ่ตัว
เป้นทองคำพันลิ่ม (ก้อน) พร้อมทั้งทาสีหนึ่งร้อย ช้างหนึ่งร้อย ม้าหนึ่งร้อย โคอุสภราชหนึ่งร้อย และทองคำร้อยลิ่ม (ก้อน)พระอินทร์พอทราบเหตุนั้นก็เกรงว่าพระเวสสันดรจะยกพระนางมัทรีให้คนอื่นอีก จึงแปลงเป็นพราหมณ์มาทูล
ขอพระนางมัทรีแล้วได้ถวายคืน เพื่อให้พระนางอยู่ปรนนิบัติพระสวามีพร้อมกับถวายพรแด่พระเวสสันดร 8 ประการคือ 

1. ขอให้พระเจ้าสัญชัยมาทูลเชิญเสด็จกลับไปครองราชสมบัติ 
2. ขอให้ได้ช่วยปลดเปลื้องชาวเมืองพ้นภัยทุกเมื่อ 
3. ขอให้ชาวแคว้นสีพีมีแต่ความสุข 
4. ขออย่าได้ตกอยู่ในอำนาจสตรี 
5. ขอให้ได้พบพระโอรสพระธิดาที่พลัดพรากกันไป 
6. ขอให้ได้อาหารทิพย์ทุกวันนับแต่ได้กลับไปครองราชสมบัติ 
7. ขอให้มีจิตผ่องใสในการให้ทาน และของที่ให้อย่าได้หมด 
8. ขอให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ และเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

              ฝ่ายชูชกพาสองกุมารออกจากป่ามาก็เกิดหลงทางจนถึงเมืองสีพี และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าสัญชัย พระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสดีจำหลานได้ รับสั่งให้นำทรัพย์สินไถ่ตัวหลานรักทั้งสองไว้ พระเจ้าสัญชัยตรัสถามถึงพระเวสสันดรและพระนางมัทรี สองพระกุมารก็กราบทูลตัดพ้อพระเจ้าปู่พระองค์ทรงสำนึกผิดจึงได้เสด็จไปรับพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีกลับมายังแคว้นสีพี หลังจากที่ทรงจากแคว้นสีพีไปเป็นเวลาถึง 1 ปี กับ 15 วัน พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมีต่อไป ภพนี้เป็นภพสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญบารมีเบื้องหน้าแต่นี้จักเสด็จอุบัติในดุสิตภพและเมื่อเสด็จจุติจากดุสิตภพนั้นแล้วก็จะเสด็จอุบัติในมนุษยโลกเป็นพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายไม่ทรงเกิดอีกต่อไป

๑. พระเตมี
เรื่องย่อทศชาติชาดก
         ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี คือการออกบวชหรือออกจากกาม มีเรื่องเล่าว่า เตมิยราชกุมารเกรงการที่จะได้ครองราชสมบัติ เพราะทรงสลดพระหฤทัยที่เห็น ราชบุรุษลงโทษโจร ตามพระราชดำรัสของพระราชา เช่น เฆี่ยนพันครั้งบ้าง เอาหอกแทงบ้าง เอาหลาวเสียบบ้าง จึงใช้วิธีแสร้งทำเป็นง่อย เปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ไม่พูดจากับใคร แม้จะถูกทดลองต่าง ๆ ก็อดกลั้นไว้ ไม่ยอมแสดงอาการพิรุธให้ปรากฏ ทั้งนี้เพื่อจะเลี่ยงการครองราชสมบัติ พระราชาปรึกษาพวกพราหมณ์ ก็ได้รับคำแนะนำให้นำราชกุมารไปฝังเสีย พระราชมารดาทรงคัดค้านไม่สำเร็จ ก็ทูลขอให้พระราชกุมารครองราชย์สัก ๗ วัน แต่พระราชกุมารก็ไม่ยอมพูด ต่อเมื่อ ๗ วันแล้ว สารถีนำราชกุมารขึ้นสู่รถไปเพื่อจะฝัง ตามรับสั่งของพระราชา ขณะที่ขุดหลุมอยู่พระราชกุมารก็เสด็จลงจากรถ ตรัสปราศรัยกับนายสารถี แจ้งความจริงให้ทราบว่า มีพระราชประสงค์จะออกบวช สารถีเลื่อมใสในคำ สอนขอออกบวชด้วย จึงตรัสสั่งให้นำรถกลับไปคืนก่อน สารถีนำความไปเล่าถวายพระราชมารดา พระราชบิดาให้ทรงทราบ ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพารจึง เสด็จออกไปหา เชิญให้พระราชกุมารเสด็จกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระราชกุมารกลับมาถวายหลักธรรมให้ยินดีในเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม พระชนกชนนีพร้อมด้วย บริวารทรงเลื่อมใสในคำสอน ก็เสด็จออกผนวชและบวชตาม และได้มีพระราชาอื่นอีกเป็นอันมากสดับพระโอวาทขอออกผนวชตาม
๒. พระมหาชนก
เรื่องย่อทศชาติชาดก
           ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี คือความพากเพียร ใจความสำคัญ คือพระมหาชนกราชกุมารเดินทางไปทางทะเล เรือแตก คนทั้งหลายจมน้ำตายบ้าง เป็นเหยื่อของสัตว์น้ำบ้าง แต่ไม่ทรงละความอุตสาหะ ทรงว่ายน้ำโดยกำหนดทิศทางแห่งกรุงมิถิลา ในที่สุดก็ได้รอดชีวิตกลับไปถึงกรุงมิถิลาได้ครองราชสมบัติ
๓. พระสุวรรณสาม
เรื่องย่อทศชาติชาดก
             ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญเมตตาบารมี คือการแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า มีเรื่องเล่าว่า สุวรรณสามเลี้ยงมารดาบิดาของตนซึ่งเสียจักษุในป่า และเนื่องจากเป็นผู้เมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น หมู่เนื้อก็เดินตามแวดล้อมไปในที่ต่างๆ วันหนึ่งถูกพระเจ้ากรุงพาราณสีชื่อปิลยักษ์ยิงเอาด้วยธนู ด้วยเข้าพระทัยผิด ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็น มาณพผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็สลดพระทัย จึงไปจูงมารดาบิดาของสุวรรณสามมา มารดาบิดาของสุวรรณสามก็ตั้งสัจจกิริยา อ้างคุณความดีของสุวรรณสาม ขอให้พิษของศรหมดไป สุวรรณสามก็ฟื้นคืนสติ และได้สอนพระราชา แสดงคติธรรมว่า ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม แม้เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น ย่อมมีคนสรรเสริญในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้วก็ บันเทิงในสวรรค์ ต่อจากนั้นเมื่อพระราชาขอให้สั่งสอนต่อไปอีก ก็สอนให้ทรงปฏิบัติธรรมปฏิบัติชอบในบุคคลทั้งปวง 
๔. พระเนมิราช
เรื่องย่อทศชาติชาดก
             ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอธิฏฐานบารมี คือความตั้งใจมั่นคง มีเรื่องเล่าว่า เนมิราชกุมารได้ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากพระราชบิดา ทรงบำเพ็ญคุณงามความดี เป็นที่รักของมหาชน และในที่สุดเมื่อทรงพระชราก็ทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส เสด็จออกผนวชเช่นเดียวกับที่พระราชบิดาของพระองค์เคยทรงบำเพ็ญมา 
๕. พระมโหสถ
เรื่องย่อทศชาติชาดก
             ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือความรู้ทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้ มีเรื่องเล่าว่า มโหสธบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้สามารถแนะนำในปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ เอาชนะที่ปรึกษาอื่นๆ ที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดีไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้ 
๖. พระภูริทัต
เรื่องย่อทศชาติชาดก
            ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญศีลบารมี คือการารักษาศีล มีเรื่องเล่าว่า ภูริทัตตนาคราชไปจำศีลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ยอมอดทนให้หมองูจับไปทรมานต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ มีใจมั่นต่อศีลของตน ในที่สุดก็ได้อิสรภาพ 
๗. พระจันทราช
เรื่องย่อทศชาติชาดก
            ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิดาจารย์รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใสเปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงพระราชสุบิน เห็นดาวดึงสเทวโลก เมื่อตื่นบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก ตรัสถามกัณฑหาลพราหมณ์ จึงเป็นโอกาสให้พราหมณ์แก้แค้นด้วยการกราบทูลแนะให้ตัดพระเศียรพระโอรสธิดา เป็นต้นบูชายัญ พระเจ้าเอกราชเป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส ๔ พระองค์ และคนอื่น ๆ อีก เพื่อเตรียมประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่ได้ผล ร้อนถึงท้าวสักกะ(พระอินทร์) ต้องมาข่มขู่และชี้แจงให้หายเข้าใจผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ประโรหิตนั้นและเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจัน ทกุมารขึ้นครองราชย์ 
๘. พระพรหมนารท
เรื่องย่อทศชาติชาดก
           ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือการวางเฉย มีเรื่องเล่าว่า พรหมนารทช่วยเปลื้องพระเจ้าอังคติราชให้กลับจากความเห็นผิด มามีความเห็นชอบตามเดิม (ความเห็นผิดนั้น เป็นไปในทางว่าสุขทุกข์เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตายเกิด หนักเข้าก็บริสุทธิ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่าสังสารสุทธิ). 
๙. พระวิฑูร
เรื่องย่อทศชาติชาดก
              ชาดกเรื่องนี้เสดงถึงการบำเพ็ญสัจจบารมี คือความสัตย์ มีเรื่องเล่าถึงวิธรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนัก พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่งปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าตนแพ้จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้อง
การ เว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี ในที่สุดพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลของตัววิธุรบัณฑิต พระราชาจะไม่พระราชทานก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิธรบัณฑิตยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่างๆ แต่ก็ตกลงกันไปไต่ถามให้วิธรบัณฑิตตัดสิน วิธุรบันฑิตก็ตัดสินให้รักษาสัตย์ คือตนเองยอมไปกับยักษ์ ความจริงยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิธรบัณฑิตไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิธรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิธรบัณฑิตมา แม้ยักษ์จะหาวิธีทำให้ตายก็ไม่ตาย วิธรบัณฑิตกลับแสดงสาธุนรธรรม (ธรรมของคนดี) ให้ยักษ์เลื่อมใสและได้แสดงธรรมแก่พญานาค ในที่สุดก็ได้กลับมาสู่กรุงอินทปัตถ์ มีการฉลองรับขวัญกันเป็นการใหญ่
๑๐. พระเวสสันดร
เรื่องย่อทศชาติชาดก
             ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมี คือการบริจาคทาน มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้นหนึ่งประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธขอให้เนรเทศ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยพระโอรสธิดาได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อชูชกไปของสองกุมาร ก็ประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาทรงไถ่สองกุมาร และเสด็จไปรับกลับกรุง( เรื่องนี้แสดงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ คือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้ดียิ่ง มิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล)